วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

อัลกุรอาน



อัลกุรอาน เป็นชื่อคัมภีร์ของศาสนาอิสลาม อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานอัลกุรอาน แด่ท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) โดยผ่านยิบรีล เพื่อให้ประกาศแก่มนุษย์ทั่วโลก

อัลกุรอาน ถูกประทานครั้งแรกในคืน อัลก็อดริ คืนอันจำเริญ ซึ่งเป็นคืนหนึ่งในเดือนรอมฎอน เดือนที่ 9 ของปีอาหรับ

อัลกุรอาน ถูกประทานลงมายังท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) เป็นระยะๆ ทั้งที่มักกะฮฺและมดีนะฮฺ ตามเหตุการณ์ รวมเวลา 23 ปี คือ ตั้งแต่ท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) อายุ 40 ปี ถึงอายุ 63 ปี

อัลกุรอาน คำตรัสของอัลลอฮฺ เป็นทางนำอันเที่ยงตรง ไม่มีความเท็จใดๆ ในอัลกุรอาน ไม่มีการแก้ไข ต่อเติม หรือ เปลี่ยนแปลง และไม่มีข้อความใดในอัลกุรอานที่ขัดแย้งกัน แต่จะมีข้อความ ที่อธิบายซึ่งกันและกัน

อัลกุรอาน เป็นภาษาอาหรับ แบ่งออกเป็น เรียก "ญุซ" มีทั้งหมด 30 ญุซ ถ้านับเป็นบท มี 114 บท บทในอัลกุรอาน เรียกว่า ซูเราะห์ แต่ละซูเราะห์ แบ่งออกเป็นโองการ เรียกว่า "อายะฮฺ"

อัลกุรอาน เป็นธรรมนูญแห่งชีวิตมุสลิม

อัลกุรอาน บอกทุกสิ่งทุกอย่างในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่การเคารพภักดีอัลลอฮฺองค์เดียว การปฏิบัติต่อพ่อแม่ การปฏิบัติตนต่อบุคคลอื่น การทำความดี และห้ามปรามความชั่ว จรรยา มารยาท การศึกษา ความอดทน การอาชีพ การเศรษฐกิจ การปกครอง การแต่งงาน การแบ่งมรดก การชำระหนี้ ประวัติศาสตร์ประชาชาติในอดีต ฯลฯ

มุสลิมทุกคนต้องอ่านอัลกุรอานให้ได้ และต้องอ่านเป็นประจำ รวมทั้งต้องศึกษา ให้เข้าใจความหมาย เพื่อที่จะได้เข้าใจพระบัญชาของอัลลอฮฺได้ถูกต้อง และเมื่อได้ยินเสียงอ่านอัลกุรอาน ทุกคนต้องเงียบ ตั้งใจฟังคำตรัสของอัลลอฮฺ เพื่อที่จะได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺเพิ่มขึ้น


อัลกุรอาน มาจากรากศัพท์ในภาษาอาหรับแปลว่า การอ่าน หรือ การรวบรวม อัลลอหฺ (ซบ) ได้ทรงประทานคัมภีร์อัลกรุอานแก่ นบีมุฮัมมัด (ศ) ซึ่งเป็นศาสนทูตคนสุดท้าย และคัมภีร์นี้ก็เป็นคัมภีร์สุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าได้ส่งมาให้แก่มวลมนุษยชาติ หลังจากนี้แล้วจะไม่มีคัมภีร์ใด ๆ จากพระผู้เป็นเจ้าอีก คัมภีร์กรุอานนี้ได้ประทานมาเพื่อยกเลิกคัมภีร์เก่า ๆ ที่เคยได้ทรงประทานมาในอดีตนั่นคือคัมภีร์เตารอต (Torah) ที่เคยทรงประทานมาแก่ศาสดามูซา คัมภีร์ศะบูร (Psalm) ที่เคยทรงประทานมาแก่ศาสดาดาวูด (David) และ คัมภีร์อินญีล (Evangelis) ที่เคยทรงประทานมาแก่ศาสดาอีซา (Jesus) เป็นคัมภีร์ที่บริบูรณ์ไม่มีการเพี้ยนเปลี่ยนแปลง ภาษาของอัลกุรอานนั้นคือภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาของศาสดามุฮัมมัดนั่นเอง


การศรัทธาในคัมภีร์อัลกุรอานทั้งเล่มเป็นหลักการหนึ่งที่มุสลิมทุกคนต้องศรัทธา นั่นก็หมายความว่าหากไม่ศรัทธาในอัลกุรอาน หรือศรัทธาเพียงบางส่วนก็จะเป็นมุสลิมไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ต้องศรัทธาว่าคัมภีร์อัลกุรอานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้มีความบริบูรณ์ภายใต้การพิทักษ์ของอัลลอหฺพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการสังคายนาอัลกุรอานเลยตั้งแต่วันที่ท่านนบีชีวิตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ด้วยพระประสงค์ของอัลลอหฺภาษาอาหรับจึงเป็นภาษาโบราณภาษาเดียวที่มีชีวิตอยู่จนกระทั่งวันนี้ได้ และได้กลายเป็นภาษามาตรฐานของประเทศอาหรับทั้งหลาย เป็นภาษาวิชาการของอิสลาม และเป็นภาษาที่ใช้ในการปฏิบัติศาสนพิธีของมุสลิมทุกคนทั่วโลก

ในราวปี ค.ศ.๖๑๐ เมื่อมุฮัมมัดนั่งบำเพ็ญตนอยู่ในถ้ำบนยอดเขาฮิรออ์อย่างที่เคยทำเป็นประจำ ญิบรีลฑูตแห่งอัลลอหฺก็ปรากฏตนขึ้น และนำพระโองการจากพระผู้เป็นเจ้ามีความว่า

จงอ่านเถิด ด้วยพระนามแห่งผู้อภิบาล ผู้ทรงให้บังเกิด พระองค์ผู้ทรงให้มนุษย์เกิดมาจากเลือดก้อนหนึ่ง
จงอ่านเถิด และพระผู้อภิบาลของเธอนั้นคือผู้ทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนมนุษย์ด้วยปากกา ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้...(อัลอะลัก)

ตั้งแต่นั้นมา มุฮัมมัดก็ได้กลายเป็นศาสนฑูตของอัลลอหฺที่ต้องรับหน้าที่ประกาศศาสนาของอัลลอหฺ นั่นคือศาสนาอิสลาม ที่ตั้งอยู่บนหลักการไม่บูชาสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอหฺ การวิวรณ์ การรับสาส์น หรือโองการจากอัลลอหฺนั้นเรียกในภาษาอาหรับว่า วะฮีย์ ศาสดามุฮัมมัดได้รับวะฮีย์เป็นคราวๆทะยอยลงมาเรื่อยๆ จากวะฮีย์แรกถึงวะฮีย์สุดท้ายใช้เวลา ๒๓ ปี ทุกครั้งที่วะฮีย์ลงมา ท่านศาสนฑูตจะประกาศให้สาวกของท่านทราบ เพื่อจะได้ไปประกาศให้คนอื่นทราบอีกต่อไป สาวกจะพยายามท่องจำวะฮีย์ที่ลงมานั้นจนขึ้นใจ และท่านศาสดาจะสั่งให้อาลักษณ์ของท่านบันทึกลงในสมุดที่ทำด้วยหนังสัตว์ กระดูก หรือสิ่งอื่นๆที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้

คัมภีร์อัลกุรอานสุดยอดของวาทศิลป์

ชาวอาหรับสมัยนั้นเก่งกาจในเชิงกวีนิพนธ์ มีกวีลือนามปรากฏอยู่ทุกเผ่า ที่กะอฺบะหฺนั้นก็มีบทกวีที่แต่งโดยเจ็ดยอดกวีอาหรับ เขียนด้วยน้ำทองคำแขวนอยู่ ในงานแสดงสินค้าประจำปีที่ อุกาศ ในอาราเบีย ที่จัดให้อาหรับทุกเผ่าพันธุ์มาพบปะแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรม ก็จะมีกิจกรรมที่สำคัญที่สุดร่วมอยู่ด้วยนั่นคือการประชันบทกวี

อันลักษณะของคัมภีร์อัลกรุอานนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง คัมภีร์อัลกรุอานจึงเป็นสิ่งท้าทายที่พิศดารสำหรับชาวอาหรับ เพราะเป็นร้อยแก้วมีความไพเราะได้โดยไม่ต้องใช้มาตราสัมผัสและบทวรรคตามกฏของกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอาหรับฉงนใจว่า คนที่ไม่เคยแต่งโคลงกลอนและอ่านเขียนไม่ได้อย่างมุฮัมมัด จะต้องไม่ใช่ผู้แต่งอัลกุรอานเป็นแน่

อัลกุรอานแบ่งออกเป็นบท เรียกว่า ซูเราะหฺ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๑๔ ซูเราะหฺ แต่ละซูเราะหฺ แบ่งเป็นวรรคสั้นยาวไม่เท่ากัน เรียกว่า อายะหฺ (แปลว่า สัญลักษณ์) ซึ่งอัลกรุอานมีอายะหฺทั้งหมด ๖๒๓๖ อายะหฺ ตามการนับมาตรฐาน (ดู คัมภีร์มาตรฐานที่พิมพ์โดยรัฐบาลซาอุดิอารเบีย) เนื้อหาในอัลกุรอานนั้นแบ่งได้สามหมวดคือ หนึ่งเกี่ยวกับหลักการศรัทธาต่ออัลลอหฺ พระผู้เป็นเจ้า ความเร้นลับที่มีอยู่ในและนอกกาละและเทศะ หมวดที่สองคือพงศาวดารของประชาติก่อนอิสลาม และคำพยากรณ์สำหรับอนาคตกาล หมวดที่สามเป็นนิติบัญญัติสำหรับมนุษย์ที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในแต่ละซูเราะหฺหรือแม้ในแต่ละวรรคอาจจะมีที่ระบุถึงสามหมวดในเวลาเดียวกัน

คัมภีร์อัลกรุอานมีความมหัศจรรย์หลายอย่าง ประการแรกก็คือความไพเราะที่กวีทุกคนต้องยองสยบ ประการที่สองคือการเปิดเผยความลี้ลับของศาสตร์และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ที่คนสมัยนั้นยังไม่ทราบ การเปิดเผยพงศาวดารในอดีต การพยากรณ์อนาคต การเปิดเผยความลี้ลับที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ ดั่งเช่น การระบุถึงการขยายตัวของจักรวาล คลื่นใต้น้ำ และบทบาทของลมในการผสมพันธ์ของต้นไม้เป็นต้น

การที่ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ไม่แก่เฒ่าหรือตายเหมือนภาษาอื่นๆ และการที่วิทยาการที่มีระบุในคัมภีร์อัลกรุอานไม่เคยล้าสมัย อีกทั้งคำสั่งสอนของอัลกุรอานก็เอาหลักตรรกวิทยาและปัญญาเป็นพื้นฐาน คัมภีร์ที่เก่าแก่นานถึง ๑๔๐๐ ปีนี้จึงไม่ได้เก่าแก่ตามอายุ ทว่ายังใช้การได้ประดุจดังคัมภีร์นี้เพิ่งลงมาเมื่อวันนี้นี่เอง

ด้วยความมหัศจรรย์ของกรุอานดังที่กล่าวมาคือปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ ที่อัลลอหฺได้ทรงประทานให้แก่ท่านนบีมูฮัมมัด เพื่อยืนยันว่า อัลกรุอานเป็นโองการของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงไม่ใช่กวีนิพนธ์ของมนุษย์

และถ้าพวกเธอยังแคลงใจใน(อัลกรุอาน)ที่เราประทานแก่บ่าวของเรา พวกเธอก็จงนำมาสักบทหนึ่งเยี่ยงนั้น และจงเรียกผู้ช่วยเหลือของพวกเธอมา -นอกจากอัลลอหฺ- ถ้าพวกเธอแน่จริง

หลังจากศาสดามุฮัมมัดประกอบพิธีฮัจญ์ในมักกะหฺ อัลลอหฺก็ได้ทรงประทานโองการอันสุดท้าย นั่นคือ

วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของพวกเธอสมบูรณ์ และฉันได้ทำให้ความโปรดปรานของฉันที่มีต่อพวกเธอนั้นบริบูรณ์ และฉันได้เลือกให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเธอ (อัลมาอิดะหฺ ๓)

การเรียบเรียงโองการนั้นไม่ได้ถือหลักระดับก่อนหลังเป็นหลัก ทว่าอัลลอหฺเป็นผู้ทรงกำหนดวิธีการเรียง โองการที่ลงมาตอนท่านศาสดาอพยพ ซึ่งที่เรียกว่า มักกียะหฺ ก็อาจจะเข้าไปอยู่ในบทที่มีโองการที่ลงมาหลังอพยพไปมะดีนะหฺ คือทีเรียกว่า มะดะนียะหฺ ก่อนญิบรีลจะมาฟังท่านศาสดาอ่านทบทวนโองการที่ได้รับปีละครั้งทุกๆปี แต่ในปีสุดท้ายก่อนท่านศาสดาจะเสียชีวิตนั้น ญิบรีลได้มาฟังท่านศาสดาอ่านทบทวนอัลกุรอานสองครั้งเพื่อความมั่นใจว่าท่านศาสดาได้จดจำโองการทั้งหมด โดยไม่มีที่ตกบกพร่อง ท่านศาสดาเสียชีวิตหลังจากโองการอัลกุรอานได้รวบรวมขึ้นเป็นเล่มบริบูรณ์

เนื่องด้วยอัลกุรอานเป็นธรรมนูญของอิสลาม จึงเกิดมีวิทยาการใหญ่ๆแตกแขนงมาจากอัลกุรอานหลายสาขา เช่น วิชาตัจญวีด ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการอ่านอัลกุรอานให้ถูกต้อง วิชาอุลูมอัลกุรอาน หรือที่เรียกว่า อุสูลอัลกุรอาน เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของอัลกุรอาน ศึกษาว่าโองการแต่ละโองการลงมาที่ไหนเมื่อไหร่และเหตุใด อันเป็นส่วนช่วยในการตีความหมายอัลกุรอาน หรือที่เรียกว่า ตัฟซีรอัลกุรอาน

ตั้งอดีตจนกระทั่งปัจจุบันได้มีนักปราชญ์อิสลามหลายสิบท่านที่ได้แต่งหนังสือตีความหมายอัลกุรอาน เราเรียกหนังสืออรรถาธิบายนี้ว่า หนังสือตัฟซีร และเรียกผู้แต่งว่า มุฟัซซิร การตีความหมายอัลกุรอานจะใช้หลักของอุลูมอัลกุรอานดังกล่าวบวกเข้ากับพระวจนะของท่านศาสดา ภาษาศาสตร์ และวิทยาการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันนี้ชาวมุสลิมจะอ้างอิงหนังสือตัฟซีรเก่า ๆ เป็นหลักในการเขียนตัฟซีรใหม่ หรือในการแปลความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาอื่น ๆ

ที่มา www.siamic.com

หลักพิจารณาอัลกุรอาน (เบื้องต้น)ที่มาสมาคมคุรุสัมพันธ์

การศึกษาวิชานี้ จะทำให้ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอัลกุรอาน ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะอัลกุรอานที่ถูกพระราชทานลงมา ในวาระที่ต่างกัน ในเวลาที่ต่างกัน ในสถานที่ที่ต่างกัน ในฤดูที่ต่างกัน ฯลฯ

ความเป็นมาและจุดมุ่งหมาย

1. คำนิยาม วิชาที่ว่าด้วยความเข้าใจในหลักฐาน ที่ทำให้รู้ถึงความหมายแห่งพจนารถของอัลลอฮฺ เท่าที่มนุษย์จะมีความสามารถ

2. วิชานี้กล่าวถึง พจนารถแห่งอัลลอฮฺ ตามเรื่องราวที่เข้าใจจากคำนิยาม

3. ประโยชน์แห่งวิชานี้ ทำให้เข้าใจถึงความหมายแห่งอัลกุรอาน และปฏิบัติตามที่ได้เข้าใจ

4. ผลลัพธ์ของวิชานี้ ผู้ศึกษาจะได้ยึดอยู่ในห่วงที่มั่นคง อีกทั้งยังจะได้รับชัยชนะทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

5. วิชานี้เก็บนำมาจาก อัลกุรอาน อัซซุนนะฮฺ และ สำนวนภาษาอาหรับ

6. เรื่องราวของวิชานี้ คือ ประโยชน์ทางการวิจัย ที่ออกมาในรูปของหลักการ หลักยึดมั่น อุทธาหรณ์ คำตักเตือน

7. วิชานี้เป็นวิชาที่เกี่ยวกับศาสนา และถือว่าเป็นวิชาที่สำคัญยิ่งวิชาหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากไม่อาจนำเอารายละเอียดต่างๆ จากอัลกุรอาน ออกมาได้ หากไม่เข้าใจวิชานี้

8. เอกลักษณ์ของวิชานี้ เป็นวิชาที่มีความสำคัญสูงสุด

9. ความจำเป็นที่ต้องศึกษาวิชานี้ เนื่องจากความเข้าใจที่พึงมีต่อเจตนารมย์ แห่งอัลกุรอานนั้น เป็นหนทางที่ก่อให้เกิด ความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า

คำนิยามศัพท์เทคนิคที่ใช้ในวิชานี้

(1) อัลกุรอาน พจนารถที่พระราชทานแก่ศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) โดยที่ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้คล้ายได้ และการอัญเชิญ ถือเป็นการอิบาดะหฺ

(2) อัซซูเราะห์ บทหนึ่งของอัลกุรอานที่มีชื่อ โดยการแนะนำของศาสดา ซึ่งบางบทมีเพียงสามอายะห์ (โองการ) หรือสี่อายะห์ (โองการ) เท่านั้น (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนับ "บิสมิลล่าฮิรเราะฮฺมานิรรอฮีม" เป็นอายะห์ (โองการ) หนึ่งของบทนั้น ด้วยหรือไม่)

สรุปทรรศนะของปวงปราชญ์เกี่ยว "บิสมิลล่าฮิรเราะฮฺมานิรรอฮีม" หรือ ที่มีชื่อสั้นๆ ว่า "อัลบัซมาละห์"

1. สำหรับ "อัลบัซมาละห์" ที่มีอยู่ใน โองการ อัลนัมลิ นั้น ปวงปราชญต่างยืนยันว่า นั่นคือ อัลกุรอาน

2. สำหรับ "อัลบัซมาละห์" ที่มีอยู่ในตอนแรกของ โองการ อัลบะรออะห์ นั้น ปวงปราชญ์ต่างยืนยันว่า นั่นมิใช่อัลกุรอาน

3. ที่ปวงปราชญ์มีทรรศนะต่างกัน ก็คือ "อัลบัซมาละห์" นั้น เป็นโองการแรกของบทต่างๆ หรือไม่ ท่านอิหม่ามซาฟีอีย์ กล่าวว่า "อัลบัซมาละห์" คือ โองการแรกของทุก ๆ บท ท่านอิหม่ามมาลิกถือว่า "อัลบัซมาละห์" นั้น หาใช่เป็นโองการหนึ่ง จากอัลกุรอาน และก็หาใช่เป็นโองการหนึ่งของบทด้วย ท่านอิหม่าม อะบูฮานีฟะฮ ฺ กล่าวว่า "อัลบัซมาละห์" นั้น เป็นโองการหนึ่ง จากอัลกุรอาน แต่มิได้เป็นโองการของทุกๆ บท ส่วนท่านอิหม่ามอะห์มัด กล่าวว่า "อัลบัซมาละห์" นั้น เป็นโองการหนึ่งของ "อัลฟาติหะห์" เท่านั้น หาได้เป็นโองการของทุกๆ บทไม่

(3) อัลอายะห์ คือ ประโยค (โองการ) หนึ่งของอัลกุรอาน ที่มีเครื่องหมายแยกระหว่างประโยคต่อประโยค อัลอายะห์ นี้ แบ่งออกเป็นสองประเภท

1. อัลมัฟฎูละห์ ได้แก่อัลกุรอานที่มีความหมายเกี่ยวกับสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ เช่น บท อัต ตับบัต

2. อัลฟาฎีละห์ ได้แก่อัลกุรอานที่กล่าวเกี่ยวกับพระองค์อัลลอฮฺ เช่น บท อัล ฟาตีหะห์

พึงรู้ว่า

(1) จำนวนอายะห์ (โองการ) ที่ปรากฏในอัลกุรอาน ดังที่ท่านอิบนุอับบาสกล่าวไว้ มี 6,666 อายะห์ สำหรับจำนวน 6,000 อายะห์ (โองการ) นั้น ปราชญ์ทุกท่าน มีความเห็นสอดคล้องกัน ส่วนอีก 666 อายะห์ (โองการ) นั้น ปราชญ์มีความเห็นต่างกัน ที่ว่านี้ ต่างกันเพียงการนับเท่านั้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากท่านศาสดาได้อ่าน อัลกุรอาน พอจบอายะห์หนึ่งๆ ท่านก็หยุด เพื่อเป็นการแยกระหว่างอายะห์ต่ออายะห์ เมื่อเป็นเข้าใจดีแล้ว บางครั้ง ท่านก็อ่านต่อระหว่างอายะห์หนึ่งกับอีก อายะห์หนึ่ง ผู้ฟังบางท่านจึงคิดว่าเป็นอายะห์เดียวกัน ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้จำนวนนับ เกี่ยวกับอายะห์นี้ คลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่มิได้ หมายความว่า ใจความบางตอนของอัลกุรอาน ขาดหายไป

สำหรับซูเราะห์ (บท) ทั้งหมด ในอัลกุรอาน มี 114 ซูเราะห์ (บท) ส่วนอักษรหรือพยัญชนะในอัลกุรอานทั้งหมด มี 323,671 อักษร

อนึ่ง การรู้จำนวนดังกล่าวนั้น มีประโยชน์หลายประการ อาทิเช่น

ก. ผู้ที่อ่านฟาติหะห์ในละหมาดไม่ได้ ให้โองการอื่นแทนเจ็ดโองการ
ข. ในคุตบะห์นั้น จำเป็นต้องอ่านอย่างน้อยหนึ่งอายะห์ (โองการ) ซึ่งหากอ่านเพียงบางส่วน ถือว่าใช้ไม่ได้

(2) ในอัลกุรอานนั้น ไม่อนุญาตให้อ่านด้วยภาษาอื่นจากอาหรับ

(3) อัลกุรอานนั้น ไม่อนุญาตให้แปล เพราะจะทำให้เสียอรรถรส อันเป้นสิ่งที่อัลกุรอานประทานลงมา ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ที่อ่านอัลกุรอานในละหมาดไม่ได้ จึงให้กล่าว"ซิกิร" แทน

พึงรู้ว่า

ข้อแตกต่างระหว่าง "อัตตัรยิมะห์", อัตตับซีร" และ อัตตะอฺวีล นั้น เป็นดังนี้

1. อัตตัรยิมะห์ นั้น คือ การเปลี่ยนคำจากคำเดิม โดยจะเปลี่ยนเป็นภาษาอาหรับ หรือ ภาษาใดก็ตาม

2. อัตตับซีร คือ การอธิบายอัลกุรอาน

3. อัตตะอฺวีล คือ เมื่อมีความหมายเป็นหลายนัย แล้วบ่งใช้ความหมายใดความหมายหนึ่ง

เมื่อการอ่านอัลกุรอานแต่เพีงความหมาย เป็นที่ต้องห้ามดังกล่าวแล้ว การอธิบายด้วยมันสมอง โดยปราศจากความรู้ ก็เป็นที่ต้องห้ามด้วย เนื่องจากอัลหะดิษระบุไว้ ความว่า

" ใครอธิบายอัลกุรอานด้วยมันสมองหรือโดยไม่มีความรู้
จงเตรียมสถานที่พำนักในนรก "
รายงานโดยอะบูดาวุด และ ติรมิซีย์

เป็นที่น่าสังเกตว่า การ "ตับซีร" อัลกุรอาน กับการ "ตะอฺวีล" อัลกุรอาน นั้น มีความหมายต่างกัน ด้วยเหตุดังกล่าวใน "ชัรหุนนุกอยะห์" จึงแยกให้เห็นว่า "ตับซีร" นั้น คือ การยืนยันว่า อัลกุรอานวรรคนี้ หรือโองการนี้ อัลลอฮฺหมายความว่าอย่างนั้น หรือ อย่างนี้ เมื่อเป็นดังนี้ จึงไม่อนุญาตให้"ตับซีร" นอกจากผู้"ตับซีร" นั้น คือ ท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) หรือ ศอฮาบะฮฺ ดัวยเหตุดังกล่าว "อัลหากิม" จึงกล่าวว่า การตับซีรของเหล่า อัครสาวก จะโดยการ "ตับซีร" ที่อ้างถึงมูลเหตุแห่งการพระราชทานโองการนั้นๆ หรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นการ "ตับซีร" ของท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) กล่าวคือ "ฟีหุกมิลมัรฟูอฺ"

ส่วนการ "ตะอฺวีล" นั้น คือ การให้ความหมายหนึ่ง จากอัลกุรอาน ที่อาจเป็นไปได้หลายความหมาย ลักษณะเช่นนี้ มิได้เป็นการบ่งอย่างชัดเจนถึงความมุ่งหมาย หรือความประสงค์ในความหมายนั้นๆ จากอัลลอฮฺ ด้วยเหตุนี้ ในเรื่องของ "ตะอฺวีล" จึงมีทรรศนะที่ต่างกัน ในหมู่ศอฮาบะฮฺ และ ชาวสะลัฟ หากมีหลักฐานบ่งบอกอย่างชัดเจนจากท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) เขาเหล่านั้น ก็จะไม่มีทรรศนะที่ต่างกันอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของ การ "ตะอฺวีล" นี้ บางทรรศนะห้ามโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปิดช่องทางที่อาจทำลายเจตนาโดยแท้จริง
ของอัลกุรอาน

ผลลัพธ์รวบยอด

(1) ไม่อนุญาตให้ขยายความหมายของอัลกุรอาน โดยอาศัยสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียว และการวิเคราะห์ โดยไม่มีข้อมูลสนับสนุน ก็เช่นกัน ัลกุรอานได้ระบุไว้ ความว่า

" อย่าตามในสิ่งที่ท่านไม่มีความรู้ แท้จริง หู ตา หัวใจ ทั้งหมดนั้น ต้องรับผิดชอบ "

" และการที่ท่านทั้งหลายพูดจากัน เกี่ยวกับพระองค์อัลลอฮฺ ในสิ่งที่ท่านที้งหลายไม่มีความรู้ "

อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ความว่า ผู้ที่มีหน้าที่ในการขยายความอัลกุรอาน คือ ศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) ดังอัลกุรอานระบุไว้ ความว่า

" และเราได้ประทานอัลกุรอานมายังท่าน
เพื่อท่านจะได้อธิบายให้มวลมนุษย์ได้รับรู้ ในสิ่งที่ถูกประทานแก่พวกเขา "

ดังนั้น ใครก็ตามให้การอธิบายอัลกุรอาน โดยมิได้อาศัยแนวทางการขยายความจากท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) ถือว่าเป็นการอธิบายที่ไม่ถูกต้อง ที่ี่หลงไหลไปจากแนวทางที่เที่ยงตรง ดังอัลหะดิษระบุไว้ ความว่า

" ใครพูดเรื่องอัลกุรอานด้วยความเห็นของเขาที่ปราศจากข้อมูลเกี่ยวกับอัลกุรอาน
แม้จะไปตรงกับความถูกต้อง ก็ถือเป็นความผิดพลาด "

(2) ท่านอิบนุอะตียะห์ กล่าวว่า เป็นที่ต้องห้ามเช่นกัน การที่ใครก็ตาม ถามถึงความหมายอัลกุรอาน ผู้ถูกถาม ได้ตอบไปตามความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่พิจารณาไปยังคำอธิบายที่ปวงชราชญ์ได้เคยอธิบายไว้

(3) บรรดาปวงปราชญ์กล่าวว่า ผู้ที่จะ "ตับซีร" อัลกุรอานได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

ก. มีความรู้ในวิชาอักษรศาสตร์

ข. มีความรู้ในวิชาว่าด้วยมูลเหตุแห่งการพระราชทานโองการ

ค. ยึดมั่น ระวัง รักษา และ คำนึงถึงหลักเชื่อถือ ที่แน่นอน

ง. ให้ความสำคัญต่อพระจริยวัตรขององค์พระศาสดา

อัลกุรอานได้ระบุไว้ ความว่า

" และท่านทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และอัลลอฮฺจะให้ท่านทั้งหลายมีความรู้ "

อัลหะดิษได้ระบุไว้ ความว่า

" แท้จริงในทุกอายะห์ (โองการ) นั้น
มีทั้งความหมายที่เผยแจ้ง และความหมายที่เร้นลับ "

" ใครกระทำตามที่เขารู้ อัลลอฮฺจะให้เขารู้ในสิ่งที่เขาไม่รู้ เป็นมรดกแก่เขา "

วาระต่างๆ แห่งการพระราชทานอัลกุรอาน

อัลมักกีย์ คือ อัลกุรอานที่ถูกประทานก่อนการอพยพ

อัลมะดะนีย์ คือ อัลกุรอานที่ถูกประทานหลังการอพยพ

ส่วนอัลกุรอานที่ถฏประทานลงมาระหว่างการเดินทาง เพื่ออพยพจากนครมักกะฮฺ ไปสู่นครมะดีนะฮฺนั้น ถือว่าเป็นอัลมะดะนีย์

นักวิชาการบางท่าน ได้ให้คำจำกัดความอัลมักกีย์และอัลมะดะนีย์ ว่า

อัลมักกีย์ คือ อัลกุรอานที่ถูกประทานที่นครมักกะฮฺ

อัลมะดะนีย์ คือ อัลกุรอานที่ถูกประทานที่นครมะดีนะฮฺ

การให้คำจำกัดความตามนักวิชาการฝ่ายนี้ ก่อให้เกิดช่องว่าง ในแง่ที่อัลกุรอานบางโองการ มิได้ถูกประทานขณะที่ท่านศาสดาอยู่ที่นครมักกะฮฺ หรือ ที่นครมะดีนะฮฺ เช่น ประทานในระหว่างเดินทาง เป็นต้น

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การให้คำจำกัดความของนักวิชาการฝ่ายแรก จึงเป็นที่ใช้ได้และรัดกุมกว่าฝ่ายหลัง

การแยกแยะออกเป็นมักกีย์และอัลมะดะนีย์ ก่อให้เกิดประโยชน์ดังนี้

1. ทำให้ทราบถึงโองการที่มีผลบังคับใช้ และโองการที่ถูกยกเลิกไปแล้ว

2. ทำให้ทราบว่าโองการใด ประทานลงมาก่อนหรือหลัง ซึ่งจะทำให้สามารถลำดับอัลกุรอานได้ถูกต้อง

ปัญหานี้ บรรดาอัครสาวกได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะจะทำให้สามารถเข้าใจจุดมุ่งหมายของอัลกุรอาน ได้ถูกต้อง

จากการที่แบ่งออกเป็น อัลมักกีย์ และ อัลมะดะนีย์ นี้ นักวิชการได้วางหลักในการสังเกตว่า โองการใด เป็นอัลมักกีย์ และ โองการใด เป็นอัลมะดะนีย์ ไว้โดยสังเขป คือ

- บท (ซูเราะห์) ใด ที่ใช้คำว่า "ยาอัยยูฮันนาซ" และไม่มีคำว่า "ยาอัยยูฮัลลาซีนะอามะนู" อยู่เลย ถือว่า เป็นมักกีย์ ส่วนใน "ซูรอตุลหัจญ์" มีการขัดแย้งกันอยู่

- บทใดที่ใช้คำว่า "กัลล่า" ถือว่าเป็น อัลมักกีย์

ท่านเชค อับดุลอาซีซ อัดคีรีนีย์ กล่าวว่า

พึงรู้ว่า โองการที่มี "กัลล่า" รวมอยู่ด้วยนั้น จะไม่มีความหมายไปในทางที่ดีเลย และคำว่า "กัลล่า" นี้ ไม่ปรากฏว่ามีอยู่ ในครึ่งแรกของอัลกุรอาน คำว่า "กัลล่า" มีกล่าวทั้งหมดในอัลกุรอาน 33 แห่ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ใน 15 ส่วนหลังของอัลกุรอาน

- ที่กล่าวเกี่ยวกับเรื่องของนะบีอาดำและอิบลีส (มารร้าย) ถือว่าเป็น อัลมักกีย์ นอกจากบท อัลบะกอเราะห์

- ที่กล่าวเกี่ยวกับเรื่อง "มุนาฟิก" ถือว่าเป็น อัลมักกีย์ นอกจากบท อังกะบูต

ท่านฮีซาม บิน อุรวะห์ กล่าวว่า

บทใดที่กล่าวถึงการลงโทษ หรือ ที่กล่าวถึงคำบัญชาต่างๆ ถือว่าเป็น อัลมะดะนีย์ และ บทใดที่กล่าวถึงประวัติของประชากรในศตวรรษก่อนๆ ถือว่าเป็น อัลมักกีย์

ท่านอัลญะบะรีย์ กล่าวว่า

เราสามารถแยกว่าโองการใดที่เป็น อัลมักกีย์ และ โองการใดที่เป็น อัลมะดะนีย์ ได้สองวิธี คือ

1. โดยหลักฐานที่สืบทอดกันมา

2. โดยการเทียบจากเครื่องหมาย หรือ สัญญลักษณ์ และ ลักษณะดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

อัลมะดะนีย์ ในอัลกุรอาน ทั้งหมดมี 29 บท คือ

สองบทแรกในอัลกุรอาน และ สองบทสุดท้ายในอัลกุรอาน และ อัลฮัจญ์ อัลมาอิดะห์ อันนิซาอ์ อัลอัมฟา อัลบะรออะห์ อัรเราะดุ อัลกิตาบ อัลฟัตหุ อัลหุญุรอต อัลหะดีด อันนัสรุ อัลกิยามะห์ อัซซัลซะละห์ อัลก็อดรุ อัลนูร อัลอะห์ซาบ อัลมุญาดะละห์ อัลหัซรุ อัลมุมตะหะนะห์ อัซซ๊อฟ อัลญุมอะห์ อัลมุนาฟิกูน อัตตะฆอบุน อัตตอล๊าก อัตตะห์รีม

สำหรับบท (ซูเราะห์) นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็น อัลมักกีย์ ซึ่งมีทั้งหมด 85 บท เพราะบทใน อัลกุรอาน ทั้งหมดมี 114 บท ดังกล่าวที่ได้กล่าวมาแล้ว

อัลฮะดอรีย์ คือ โองการที่พระราชทานลงมาในขณะที่ไม่ได้เดินทาง

อัซซะฟะรีย์ คือ โองการที่พระราชทานลงมาในขณะเดินทาง

อัลลัยลีย์ คือ โองการที่ถูกพระราชทานลงมาในตอนกลางคืน

อันนะฮารีย์ คือ โองการที่ถูกพระราชทานลงมาในตอนกลางวัน

อัศศอยฟี่ย์ คือ โองการที่พระราชทานลงมาในช่วงฤดูร้อน

อัซซิตาอี่ย์ คือ โองการที่พระราชทานลงมาในช่วงฤดูหนาว

อัลฟิรอซีย์ คือ โองการที่พระราชทานลงมาในขณะที่ท่านนะบีอยู่บนที่นอน

อัสบาบุ้นนุซุล
(มูลเหตุแห่งการพระราชทานโองการในอัลกุรอาน)

จะปรากฏในรูปอธิบายหลักการหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยขององค์พระศาสดาหรือตอบคำถามก็ตาม ในอัลอิตกอน ได้กล่าวถึงประโยชน์ในการรับรู้มูลเหตุแห่งการพระราชทานโองการไว้ดังนี้

ก. ทำให้รู้ถึงวิทยปัญญา (หิกมัต) ที่ก่อให้เกิดหลักการ

ข. ทำให้รู้ถึงสำนวน (ความมุ่งหมาย) ของอัลกุรอาน ซึ่งบางครั้งมีมาในลักษณะที่กว้าง ครอบคลุมไปถึงสิ่งที่อยู่ในแวดวงเดียวกันทั้งหมด แต่มีหลักฐานบ่งบอกเพียงเฉพาะเหตุการณ์นั้น

ค. ทำให้รู้ถึงความหมายอันแท้จริง เช่น โองการที่ระบุไว้ ความว่า

" ทั้งทิศตะวันออกและตะวันตกนั้น เป็นสิทธิแห่งอัลลอฮฺ
ดังนั้น ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะผินหน้าไปทางทิศใด ท่านก็จะพบกับพระพักตร์แห่งอัลลอฮฺ "

ตามความหมายแห่งโองการนี้ แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องผินหน้าไปทางกิบลัต อันได้แก่บัยตุลลอฮฺ เท่านั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าอยู่ในภูมิลำเนาปกติ หรืออยู่ในขณะเดินทาง ซึ่งเข้าใจในทำนองนี้ ก่อให้เกิดความสับสนและเคลือบแคลง ดังนั้น เมื่อศึกษาถึงมูลเหตุแห่งการพระราชทานโองการนี้ ความสับสนและเคลือบแคลงดังกล่าว ก็อันตรธานหายไป เนื่องจากโองการนี้ ถูกพระราชทานลงมา โดยมูลเหตุที่ว่า มีชนกลุ่มหนึ่งไม่อาจรู้แน่ชัดว่า ทางไหนคือกิบลัต ดังนั้น ต่างคนต่างก็ผินไปยังทิศทาง ที่ต่างก็วินิจฉัยว่า ทางนั้นคือกิบลัต พอรุ่งเช้าก็เป็นที่แน่ชัดว่า ทิศทางที่วินิจฉัยว่าเป็นกิบลัตนั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งในกรณีเช่นนี้ อัลลอฮฺอภัยให้ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า จุดมุ่งหมายของโองการนี้ ก็คือผ่อนปรนให้ผู้วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องกิบลัตนี้ ผินไปทางทิศทางใดก็ได้ที่เข้าใจว่า เป็นทิศทางของกิบลัต

ท่านอัลวาฮิดีย์ กล่าวว่า ไม่เป็นที่อนุญาตให้อรรถาธิบายโองการใดๆ โดยไม่รู้ว่ามีมูลเหตุแห่งการพระราชทานมา
อย่างไร

ท่านอิบนุดะกีก อัลอีด กล่าวว่า การให้ความเข้าใจถึงมูลเหตุแห่งการพระราชทานโองการนั้น เป็นหนทางที่ก่อให้เกิด ความมั่นใจในความหมายของอัลกุรอาน

สำหรับตัวอย่างของโองการที่มีมูลเหตุแห่งการพระราชทานนั้น ขอนำเอาหะดิษที่รายงานโดย อัลบุคอรี จากอะนัสว่า

ท่านอุมัร กล่าวว่า ฉันมีความเห็นสอดคล้องกับผู้อภิบาลของฉัน 3 ประการ กล่าวคือ ฉันเคยกล่าวกับ
ท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) ว่า หากเราจะเอามะกอมอิบรอฮีม เป็นสถานที่ละหมาด ก็จะดี อัลกุรอานก็ลงมา ความว่า

" ท่านทั้งหลายจงเอามะกอมอิบรอฮีม เป็นสถานที่ละหมาด "

และฉันก็เคยเสนอท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) ว่า บรรดาภรรยาของท่านนั้น มีทั้งคนดีและคนเลวเข้าพบ หากท่านจะได้มีบัญชา ให้พวกนางปกปิดก็จะดี โองการเกี่ยวกับเรื่องนี้ (อายะตุลหิญาบ) ก็ประทานลงมา และฉันเคยกล่าวแก่บรรดาภรรยาของท่าน เมื่อพวกนางต่างก็มีความหึงหวงท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) ว่า "บางทีผู้อภิบาลของท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) อาจให้ท่านหย่าร้างพวกเธอ แล้วหาภรรยาที่ประเสริฐกว่าพวกเธอมาแทน" อัลกุรอานก็ประทานลงมาในบทอัตตะห์รีม เกี่ยวกับเรื่องนี้

Link :

http://www.piwdee.net/sem3_8.htm

อัลกุรอ่าน ความหมายภาษาไทย
http://www.alquran-thai.com/

หลักสูตร เรียนอัลกุรอาน ด้วยวิธีง่ายๆ
http://qiraah.net/

อัลกุรอานออนไลน์
http://www.siamic.com/mpquran/

ฟังอัลกุรอาน พร้อมความหมายภาษาไทย
http://www.islaminthailand.org/dp6/node/133

ซอฟต์แวร์ : โปรแกรมฟังอัลกุรอาน
http://www.muslimthai.com/main/1428/content.php?category=55&id=582

ดาวน์โหลด โปรแกรม พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมความ หมายภาษาไทย ฟรี
http://4ever.thaiware.com/main/download.php?id=3087&mirror=0


อัลกุรอ่าน ความหมายภาษาไทย โดย..สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ
http://www.alquran-thai.com/

อัลกุรอานแปลไทย
http://www.islamhouse.com/p/405

YouTube

อัลกุรอ่านคือ ?
http://www.youtube.com/watch?v=xtzLE5TZ4jU

1ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านบทนำ
http://www.youtube.com/watch?v=bj944qAXboY

2ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่าน หน้าที่ของภูเขา
http://www.youtube.com/watch?v=MDIUPPPFj_g

3ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านการเคลื่อนตัวของภูเขา
http://www.youtube.com/watch?v=CMBFbfpZTyY

4ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านหลังคาที่ถูกรักษาไว้
http://www.youtube.com/watch?v=gQjLWhNerfE

5ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านท้องฟ้าที่มีระบบหมุนเวียน
http://www.youtube.com/watch?v=tePaC-2TAW8

6ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่าน วิถีโคจร
http://www.youtube.com/watch?v=c9pjbPK7G6U

7ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านน้ำทะเลไม่ผสมเข้าด้วย
http://www.youtube.com/watch?v=n0t4RrYUQCQ

8ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านความลับของเหล็ก
http://www.youtube.com/watch?v=UL5v7JFuupc

9ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านมหัศจรรย์ของคำ
http://www.youtube.com/watch?v=Bknb5kwxTxI

10ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านบอกอนาคต
http://www.youtube.com/watch?v=NtucoKI88Ro

11ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านกล้ามเนื้อห่อหุ้มกระดูก
http://www.youtube.com/watch?v=sjlmiYXG1P4

12ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านลายนิ้วมือ
http://www.youtube.com/watch?v=RoXC99LaStc

13ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านทารกอยู่ในครรภ์3ระยะ
http://www.youtube.com/watch?v=TClZ9eHnJ9k

14ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านเพศของทารก
http://www.youtube.com/watch?v=Y5OpQh_0TWw

15ความมหัศจรรย์ของอัลกุรอ่านบทสรุป
http://www.youtube.com/watch?v=5oYk5SeNxGA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม