วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

อิบาดะฮ

ความหมายของคำว่า อิบาดะฮ
อัลอิบาดะฮ์ คือ ทุกๆ สิ่งที่มีปรากฏในบทบัญญัติ จากคำสั่งใช้ต่างๆ และคำสั่งห้ามต่างๆ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่บัญญัติให้ปฏิบัติ หรือมีการส่งเสริมให้กระทำ เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องปฏิบัติ และทุกสิ่งที่มีคำสั่งห้ามให้ละทิ้ง หรือ ห้ามที่หากกระทำถือว่าเป็นการฝ่าฝืน ที่ให้ละทิ้งถ้าปฏิบัติ ถือว่าเป็นบาป และเป็นสิ่งที่น่าเกลียด

สำหรับคำสั่งใช้ ที่เป็นวาญิบ (จำเป็นที่ต้องปฏิบัติ) และสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ(ซุนนะฮ์) ต่ไม่เป็นการบังคับ ส่วนการห้ามบางสิ่งถ้ากระทำถือว่าเป็นการฝ่าฝืน หรือถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเกลียด (มักรูฮ์)แต่ไม่มีบาปใด ๆ

ความหมายของอิบาดะฮ์ อีกความหมายหนึ่ง คือ รวมไว้ซึ่งสิ่งที่ อัลลอฮ์ทรงรัก และพอพระทัย ไม่ว่าจะเป็นคำพูดต่างๆ หรือการกระทำที่แสดงออกมา และสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ

และรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างทีมีอยู่ในบทบัญญัติ จากคำสั่งใช้ และข้อห้ามต่างๆ เช่น การละหมาด การจ่ายซากาต การถือศีลอด การประกอบพิธีอัจญ์ ถือว่าเป็นอิบาดะฮ์ การบนบาน การขอดุอาอ์ การมอบหมายต่ออัลลอฮ์ การมีความต้องการความปรารถนา ความเกรงกลัว การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ การใช้กันในเรื่องของความดี ห้ามปรามในในสิ่งที่เป็นความชั่ว การทำความดีต่อเพื่อนบ้าน การติดต่อเครือญาติ เป็นอิบาดะฮ์เช่นกัน

การที่มุสลิมได้ละทิ้งสิ่งที่เป็นข้อห้าม ถือว่าเป็นการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ และการละทิ้งสิ่งที่เป็นการตั้งภาคี การเป็นศัตรูต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน หรือเกียรติของผู้อื่น การไม่กระทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถือว่าเป็นการภักดีต่ออัลลอฮ์ การละทิ้งการทำซีนา หรือไม่ดื่มเหล้า ถือว่าเป็นการภักดีต่ออัลลอฮ์ เช่นกัน ดังนั้นการละทิ้งสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม และการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์ ถือเป็นการปฏิบัติอิบาดะฮ์

สำหรับการอิบาดะห์ที่เป็นคำสั่งใช้ได้แบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกัน คือ การอิบาดะห์ที่เป็นคำสั่งใช้ให้ปฏิบัติ และคำสั่งใช้ที่ไม่ได้บังคับ เพียงแต่ส่งเสริมให้กระทำ สำหรับคำสั่งใช้ที่เป็นกฎข้อบังคับ เช่นการละหมาด การถือศีลอด สำหรับอิบาดะฮ์ที่ส่งเสริมให้กระทำ เช่นการแปรงฟัน ถือว่าเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ สำหรับสิ่งที่เป็นข้อห้ามมิให้ปฏิบัติ เช่น ห้ามผิดประเวณี หรือการห้ามที่เป็นการปราม แต่มิใช่เป็นเชิงบังคับ ถ้ากระทำถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเกลียด เช่นการห้ามการจับกลุ่มคุยกันหลังละหมาดอิชาแล้ว

ในการทำอิบาดะฮ์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่แสดงออกมาภายนอก เช่นการละหมาด การถือศีลอด และอิบาดะฮ์ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่นการตั้งเจตนา การมีความบริสุทธิ์ใจในการประกอบอิบาดะฮ์ การมีสัจจะพูดจริง การมีความรัก และในเรื่องของข้อห้ามที่เป็นการแสดงออกมาภายนอก เช่น ห้ามการทำซินา หรือข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของหัวใจ เช่นการห้ามมิให้มีความหยิ่งยโส การอิจฉาริษยา และจำเป็นจะต้องละทิ้งพฤติกรรมเหล่านั้น

เมื่อการอิบาดะฮ์ ครอบคลุมทั้งสิ่งที่เป็นคำสั่งใช้ และคำสั่งห้าม ไม่ว่าจะเป็นคำพูดและการกระทำที่แสดงออกมา หรือที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ ดังนั้นการทำอิบาดะฮ์ทุกประเภทถ้าเราได้กระทำโดยมุ่งไปหาผู้อื่นการทำอิบาดะฮ์นั้นถือว่าเป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์

โดยที่ผู้แต่งกล่าวถึงสิ่งที่ทำให้เสียอิสลามในเรื่องของการเชือดให้กับผู้อื่นนอกจากอัลลอฮ์ เนื่องจากการเชือดนั้นเป็นอิบาดะฮ์

قال تعالى : (( قل إن صلاتي ونسكي ومحياي ومماتي لله رب العالمين لا شريك له ))

อัลลอฮ์ ทรงตรัสไว้ว่า

“มูฮัมหมัดจงกล่าวเถิด แท้จริงการละหมาดของฉัน และพิธีกรรมของฉัน การมีชีวิตของฉัน และการตายของฉัน เพื่ออัลลอฮ์ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”

وقال تعالى : (( فصل لربك وانحر ))

อัลลอฮ์ ทรงตรัสไว้ว่า

“ดังนั้นจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของท่าน และจงเชือด”

หากการเชือดมอบให้ต่อผู้อื่นนอกจากอัลลอฮ์ มันเป็นการตั้งภาคี เช่นการเชือดให้แก่บรรดาญิน การเชือดให้แก่เจ้าของหลุมฝังศพที่ล่วงลับไป เชือดให้แก่ดวงดาวต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาถือว่าเป็นการตั้งภาคี และ การวิงวอนขอดุอาอ์ต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ เช่นการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น (ความช่วยเหลือที่อยู่นอกเหนือความสามารถของมนุษย์) ถือว่าเป็นการตั้งภาคีเช่นเดียวกัน

การเชื่อฟังต่อมนุษย์ในสิ่งที่เป็นข้อตัดสินที่เกี่ยวข้องกับฮาลาล และหะรอม หมายความว่าปฏิบัติสิ่งที่มนุษย์เป็นคนกำหนดขึ้นมาโดยที่สิ่งนั้นได้ค้านกับหลักการของอัลลอฮ์ และการไปปฏิบัติตามข้อห้ามที่มนุษย์เป็นผู้ห้าม โดยที่อัลลอฮ์ ไม่ห้ามสิ่งนั้น เช่นการเชื่อฟังต่อผู้นำ หรือรัฐมนตรี หรือผู้รู้ หรือผู้ที่มีความเคร่งครัด หรือพ่อแม่ ภรรยา หรือเจ้านาย โดยปฏิบัติตามคนเหล่านี้ในสิ่งที่เป็น การฮาลาลและ สิ่งที่หะรอม

( أم لهم شركاء شرعوا لهم من الدين ما لم يأذن به الله )

“หรือว่าสำหรับพวกเขา มีบรรดาผู้ที่หุ้นส่วน ที่พวกได้มีการบทบัญญัติให้แก่พวกเขาที่เป็นเรื่องศาสนา ซึ่งสิ่งนั้นอัลลอฮ์ ไม่ได้อนุญาตแก่มัน”

ตัวอย่างเช่น การรูกัวะ เมื่อทำการรูกัวะ กับสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ ถือว่าเป็นการมุ่งหน้าเพื่อสิ่งอื่น หรือการเวียนรอบสิ่งอื่นนอกจากบัยตุลลอฮ หรือการบนบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ หรือการโกนศรีษะ เพื่อผู้อื่นนอกจากอัลลอฮ์ เช่น พวกซูฟีย์ ที่ทำการโกนศรีษะเพื่อเชคของพวกเขา เป็นการแสดงออกถึงการภักดีต่อเชค เช่นเดียวกัน การรูกัวะ หรือการสูญุดต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ หรือการเตาบัตที่มุ่งหน้าไปหาผู้อื่น เนื่องจากการเตาบัตนั้นเป็นอิบาดะฮ์ ที่เราจะต้องมอบให้แด่อัลลอฮ์

( ومن يغفر الذنوب إلا الله )

“และใครเล่าที่จะอภัยโทษบรรดาความผิดทั้งหลายให้ได้ นอกจากอัลลอฮ์แล้ว”

وفي مسند الإمام أحمد أنه جيء بأسير، فقال: اللهم إني أتوب إليك ولا أتوب لمحمد فقال النبي صلى الله عليه وسلم: (عَرَفَ الحق لأهله)( ) فالله تعالى هو أهل التقوى وأهل المغفرة، والله تعالى هو أهل التوبة، فإذا تاب لغير الله وقع في الشرك؛ لأنه صرف العبادة لغير الله.

และใครคือผู้ที่มาอภัยจากบาปนอกจากอัลลอฮ์ ในหนังสือมุสนัด ของอิหม่าม อะหมัด

"แท้จริงเขาได้นำเชลยศึกคนหนึ่งมา ดังนั้นเขาได้กล่าว(หมายถึงเชลย) โอ้อัลลอฮ์ แท้จริงฉันนั้นขอสำนึกผิดยังท่าน และฉันจะไม่สำนึกผิดแก่ มูฮัมหมัด

ดังนั้นท่านนบี ได้กล่าวว่า (เขาได้รู้ถึงสิทธิของเจ้าของมัน) สำหรับอัลลอฮ์ นั้นพระองค์คือพระเจ้าแห่งความยำเกรง และพระเจ้าแห่งการอภัยโทษ และอัลลอฮ์ นั้นเป็นพระเจ้าแห่งการสำนึกผิด ดังนั้นเมื่อเขาได้ขออภัยโทษผู้อื่นนอกเหนือจากอัลลอฮ์ เขาก็ได้ทำการตั้งภาคี เนื่องจากเขาได้หันเหการทำอิบาดะห์ ไปยังผู้อื่นนอกเหนือจากอัลลอฮ์”

สิ่งที่ทำให้เสิยอิสลามประการแรกนั้น คือการมีหุ้นส่วนในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ เหมือนที่เราทราบมาแล้วว่าการเคารพภักดีนั้นคือการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่แสดงออกมาภายนอก และสิ่งที่เป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ที่อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยกับการกระทำนั้นๆ เมื่ออิบาดะห์นั้นจำเป็นที่จะต้องมอบให้อัลลอฮ์เพียงองค์เดียว ไม่เป็นที่อนุญาตให้บ่าวของพระองค์มอบการอิบาดะห์ให้แก่ผู้อื่นนนอกจากอัลลอฮ์ เช่นการ ขอดุอาอ์ต้องมอบให้แก่อัลลอฮ์เพียงองค์เดียว และการขอความช่วยเหลือที่นอกเหนือจากความสามารถของมนุษย์ ถ้าเราขอต่อสิ่งอื่นก็เป็นการตั้งภาคี หรือการเชือด การรูกัวะ การสูญุด การตอวาฟ การมอบหมาย ทั้งหมดนั้นเป็นอิบาดะห์ที่จะต้องมอบให้อัลลอฮ์เพียงผู้เดียว ถ้าเราได้มอบการเคารพภักดีที่กล่าวมาให้แก่ผู้อื่นนอกจากอัลลอฮ์ การกระทำนั้นถือว่าเป็นการตั้งภาคีในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ “ชิริก”

จากหนังสือ شرح نواقض الإسلام

อธิบายโดย الشيخ عبد العزيز الراجحي

แปลโดยอิสมาอีล กอเซ็ม

โลกนี้เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้างขึ้นมาอย่างมีความหมาย พระองค์มิได้ทรงสร้างสิ่งใดขึ้นมาโดยไร้วัตถุประสงค์ “และเรามิได้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินและทุกสิ่งที่อยู่ระหว่างมันโดยไร้วัตถุประสงค์”(อัลกุรอาน 38:27)

ทุกสิ่งมิได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการละเล่นหรือการสนุกสนานดังที่กุรอานได้กล่าวไว้ในหลายอายะฮ์ เช่น “ฉันมิได้สร้างญินและมนุษย์มาเพื่ออื่นใดนอกไปจากเพื่อที่พวกเขาจะได้เคารพสักการะ(อิบาด๊ะฮฺ)ฉัน” (อัลกุรอาน 51:56)


อายะฮ์นี้แสดงว่าอัลลอฮได้ทรงสร้างมนุษย์และญินขึ้นมาเพื่อที่จะให้แสดงความเคารพสักการะพระองค์ ปัจจุบันมีหลายคนรวมทั้งมุสลิมบางคนคิดว่าการเคารพสักการะจำกัดอยู่แค่เพียงการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างเช่นการนมาซ การจ่ายทาน การไปทำฮัจญ์และการถือศีลอดเท่านั้น ความเข้าใจเช่นนี้เป็นความเข้าใจที่บิดเบือนและไม่มีในอิสลาม


เนื่องจากคำสอนของอิสลามครอบคลุมวิถีชีวิตในทุกด้าน ดังนั้น การกระทำของมนุษย์ทั้งหมดจะถูกถือว่าเป็นการแสดงความเคารพสักการะ(อิบาด๊ะฮฺ) ถ้าหากว่า :-

1) การกระทำดังกล่าวนั้นทำไปเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น และ

2) การกระทำนั้นเป็นไปตามกฎหมายของอัลลอฮฺและคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัด อิสลามเห็นคุณค่าของความตั้งใจดีที่อยู่เบื้องหลังการกระทำทุกอย่างและจะตอบแทนการกระทำนั้น ตามเจตนา ท่านนบีมุฮัมมัด กล่าวว่า “การกระทำทั้งหลายนั้นเป็นไปโดยเจตนาและทุกคนจะได้รับในสิ่งที่ตัวเองได้เจตนาไว้”(บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)


เงื่อนไขสองประการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเสมือนไม้เท้าวิเศษที่เปลี่ยนการกระทำที่อนุมัติในชีวิตประจำวันของเราให้เป็นการแสดงความเคารพสักการะ(อิบาด๊ะฮฺ)อันยิ่งใหญ่ ตัวอย่างเช่น ถ้าใครทำอาหารด้วยเจตนาเพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพดีและจะได้ปฏิบัติหน้าที่ต่ออัลลอฮฺได้ครบถ้วน คนผู้นั้นก็ได้รับรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่สำหรับเจตนาดีนั้น


การงานที่ดีซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งต้องห้ามอย่างเช่นการขโมยและการหลอกลวงก็เป็นการแสดงความเคารพสักการะอย่างหนึ่ง การกินและดื่มโดยมีเจตนาเพื่อให้มีพลังในการปฏิบัติศาสนกิจต่ออัลลอฮฺดีขึ้นก็เป็นการการแสดงความเคารพสักการะ(อิบาด๊ะฮฺ)อย่างหนึ่ง หรือแม้แต่การให้ความสุขแก่ภรรยาของตัวเองก็เป็นการแสดงความเคารพสักการะอย่างหนึ่ง


ครั้งหนึ่ง ท่านนบีมุฮัมมัด ได้บอกบรรดาสาวกของท่านว่า : “พวกท่านจะได้รับการตอบแทนแม้ในตอนที่พวกท่านมีความสัมพันธ์ทางเพศกับภรรยาของท่าน”สาวกจึงถามท่านด้วยความประหลาดใจว่า“เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะได้รับรางวัลตอบแทนสำหรับการตอบสนองความต้องการทางเพศของเรา?” ท่านนบีได้ถามพวกเขาว่า “ถ้าหากท่านตอบสนองความต้องการของพวกท่านโดยไม่ถูกต้อง การทำเช่นนั้นเป็นบาปไหม?” บรรดาสาวกจึงตอบว่า “บาปสิ” ท่านนบีจึงได้กล่าวว่า “ก็ในทำนองเดียวกัน โดยการตอบสนองความต้องการอย่างถูกต้องกับภรรยาของพวกท่าน พวกท่านก็จะได้รับการตอบแทนสำหรับการทำเช่นนั้น” (บันทึกโดยมุสลิม)


การแสดงความเคารพสักการะ(การอิบาด๊ะฮฺ)เป็นการกระทำที่รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างและรวมถึงสิ่งต่างๆอีกมากมายที่หลายคนเห็นว่ามันไม่มีความสำคัญ ท่านนบีได้กล่าวว่า “การต้อนรับพี่น้องมุสลิมของท่านด้วยรอยยิ้มก็เป็นการทำทานรูปแบบหนึ่ง การช่วยเหลือคนขึ้นขี่บนหลังสัตว์ก็เป็นการทำทานรูปแบบหนึ่ง และการตักน้ำใส่ถังของเพื่อนบ้านท่านก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการทำทาน” (บันทึกโดยอัต-ติรมีซี) “จงอย่าถือว่าการกระทำดีใดๆไม่มีความสำคัญ ถึงแม้มันจะเป็นการต้อนรับพี่น้องของท่านด้วยรอยยิ้ม” (บันทึกโดย อัล-บุคอรี)


"การกระทำความดีทุกอย่างนั้นความจริงแล้วเป็นการทำทาน” ( บุคอรี) “การป้อนอาหารใส่ปากคู่ครองของท่านก็เป็นการทำทานอย่างหนึ่ง” (บุคอรี)


โดยแก่นแท้แล้ว แนวความคิดเรื่องการเคารพสักการะในอิสลามเป็นสิ่งที่มีความหมายกว้างมากตราบใดที่การกระทำนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขสองข้อดังกล่าวข้างต้น


ความคิดเช่นนี้เองที่ทำให้หัวใจของมุสลิมมีความอิ่มเอิบเบิกบานเมื่อเขาทราบว่าการกระทำทุกอย่างของเขาเป็นการแสดงความเคารพสักการะ(อิบาด๊ะฮ)อัลลอฮฺ ความคิดนี้อีกเช่นกันที่ช่วยมุสลิมให้ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความสำนึกเพื่อที่จะได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺไม่ว่าเขาจะอยู่ตามลำพังหรืออยู่กับผู้เหนือกว่าเขาเพราะเขารู้ว่าเขาถูกเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลาโดยอัลลอฮฺผู้ทรงเห็นและผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงไม่เคยมีความง่วงเหงาและไม่เคยมีอาการหลับใหล


โดย อัล-อะเราะบี อบูฮัมซะฮฺ แปลโดย อาจารย์บรรจง บินกาซัน คัดลอกจาก: Thaimuslimshop.com


เป้าหมายชีวิตคืออิบาดะห์

ความเข้าใจที่ต้องปรับอิบาดะห์เป็นเป้าหมายชีวิตของผู้ที่สำนึกตน อัลลอฮสร้างมนุษย์ขึ้นมาก็เพื่อให้อิบาดะห์พระองค์ เพื่อจะได้มีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า มีผู้เข้าใจผิดในเรื่องของอิบาดะห์อีกมากเพราะคิดว่า อิบาดะห์คือการละหมาด ถือศีลอด จ่ายซะกาต และไปทำฮัจย์ เท่านั้น

อิบาดะห์ คือ การจงรักภักดี ปฏิบัติตาม นอบน้อม ยอมมอบตนและเป็นทาส อิบาดะห์เป็นสุดยอดของการภักดี โดยไม่กระทำต่อสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ ซ.บ. เพราะพระองค์คือผู้ทรงประทานการมีชีวิต ความเข้าใจ การได้ยิน การมองเห็น และอีกมากมาย อิบาดะห์เป็นการยอมสยบ ยอมจำนวนถึงสุดยอดส่วนลึกแห่งห้วงหัวใจ ต่อความยิ่งใหญ่ของผู้ที่เขาได้อิบาดะห์ โดยไม่ทราบต้นตอ และเชื่อมั่นว่ามีอำนาจหนึ่งยากที่เขาจะหยั่งถึง เหนือและเกินกว่าสติปัญญาเขาจะคิดได้

ระดับของอิบาดะห์

อัลลอฮในทัศนะของผู้ทำการอิบาดะห์นั้นสูงส่งและทรงเกียรติกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ดังที่อัล-กุรอาน ซูเราะห์ อัต-เตาบะห์ อายะห์ที่ 24 กล่าวว่า

“จงกล่าวเถิด ถ้าพ่อๆของสูเจ้า และลูกๆของสูเจ้า และเครือญาติ คู่ครอง ญาติๆ ของเจ้าและสมบัติที่สูเจ้าหามันได้ การค้าที่สูเจ้ากลัวการซบเซา เคหาสน์ที่สูเจ้าพอใจ เป็นที่รักของเจ้ายิ่งกว่าอัลลอฮและรอซู้ลของพระองค์ และการญิฮาดดิ้นรนต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮแล้ว ดังนั้น จงคอยเถิดจนกว่าอัลลอฮจะทรงนำมาด้วยพระบัญชา(การตัดสินหรือลงโทษ)ของพระองค์“

อิบาดะห์ที่อัลลอฮทรงกำหนดนั้นต้องเพียบพร้อมด้วยสิ่งสำคัญ 2 ประการ คือ

การปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งใช้หรือห้าม สิ่งหะล้าลหรือหะรอม นี่คือลักษณะของการมอบตนและการภักดีต่ออัลลอฮ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ไม่อาจถือว่าเป็นบ่าวหรือเป็นคนที่ทำอิบาดะห์ แม้เขาจะยอมรับว่าอัลลอฮเป็นพระเจ้า
การผูกพันตนเอง ในสิ่งที่อัลลอฮใช้ให้ปฏิบัติ ด้วยหัวใจที่รักอัลลอฮเท่านั้น นึกถึงความเมตตา ความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อเราทั้งกายและใจ ยิ่งเขารู้จักอัลลอฮมากเท่าใดก็จะยิ่งรักอัลลอฮมากขึ้นเท่านั้น ท่านนบีมุฮัมมัดรักอัลลอฮมากที่สุด ท่านจึงสุขสงบเมื่อเวลาละหมาด และวอนขออยู่ตลอดเวลาที่จะพบอัลลอฮ
อิบาดะห์ต้องรักในอัลลอฮ

อัลลอฮไม่ทรงรักผู้ใด เว้นแต่คนที่ปฏิบัติตามคำสอนที่รอซู้ลของพระองค์สอนและชี้ทางให้ อัล-กุรอาน ซูเราะห์ อาลิ-อิมรอน อายะห์ที่ 30 กล่าวว่า

“จงกล่าวเถิด ถ้าพวกท่านรักอัลลอฮ ดังนั้น จงปฏิบัติตามฉัน-มุฮัมมัด แล้วอัลลอฮจะทรงรักพวกท่าน”

การปฏิบัติตามนบีมุฮัมมัด ซ.ล.ไม่มีทางเกิดขึ้น นอกจากคนที่มอบตนเป็นบ่าวต่ออัลลอฮเท่านั้น อิบนุตัยมียะห์ได้กล่าวว่า อัลลอฮ ซ.บ. ได้กำหนดให้การญิฮาดในแนวทางของอัลลอฮเป็นรากฐานของความรักในอัลลอฮและรอซู้ลของพระองค์

การญิฮาด เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรักอันแท้จริงต่อคำสั่งของอัลลอฮ และเกลียดชังในสิ่งที่ทรงบัญชาห้าม การญิฮาดนั้น หมายถึงการพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้บทบัญญัติของอัลลอฮ ซ.บ. สูงเด่นและปรากฏเหนือหลักการใดๆ

ใครก็ตามจะไม่มีทางเป็นบ่าวและเป็นที่รักของอัลลอฮ นอกจากเขาจะดำรงตนให้อยู่ในสภาพของผู้ที่เกรงกลัวและมีความหวังต่อพระองค์เป็นจุดหมาย

การงาน(อะมั้ล) ที่มิได้มุ่งสู่อัลลอฮ นั้นก็เป็นของปลอม อัลลอฮจะไม่ทรงรับ โลกนี้และสรรพสิ่งจะถูกสาปแช่ง นอกจากสิ่งที่กระทำลงไปเพื่ออัลลอฮ ซ.บ. นั่นคือการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ การงานทุกอย่างต้องทำไปเพื่อพระองค์เท่านั้น

ท่านนบีมุฮัมมัดซ.ล.กล่าวว่า ความผูกพันทางศรัทธา-อีมานที่เข้มแข็งที่สุดคือการรักแนวทางของอัลลอฮและโกรธในแนวทางของพระองค์ คนเช่นนี้จะยอมรับอัลลอฮไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาชอบหรือเกลียดก็ตาม

ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่ออิสลามมักจะสร้างภาพการทำอิบาดะห์ของมุสลิมว่า เกิดจากความเกรงกลัวยอมจำนนโดยไม่มีลักษณะการรักต่ออัลลอฮ ทำให้คิดไปว่าพระเจ้าในอิสลามเป็นภาพของความหวาดกลัว หรือพลังอันดุร้ายปราศจากความเมตตาปรานี

เมื่อเรารักอัลลอฮแล้ว ในฐานะบ่าวย่อมต้องพร้อมรับกับสถานการณ์ทุกอย่างโดยไม่หลบเลี่ยง ไม่ว่าจะต้องประสบความยากจน ขัดสน หรือการทดสอบที่จะมีมา เพราะถึงอย่างไรจิตใจเขาก็ไม่หวาดหวั่นใดๆ เนื่องจากเขามีอัลลอฮอยู่ใกล้ชิดที่สุด

ขอบเขตของอิบาดะห์

อิบาดะห์ในความหมายแก่นแท้ของอิสลามนั้นครอบคลุมทุกคำสอน ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำ จะภายในจิตใจหรือภายนอก เช่น ละหมาด ซะกาต ถือศีลอด ทำฮัจญ์ ไม่โกหกตอแหล มีอะมานะห์ เคารพพ่อแม่ มีมนุษยสัมพันธ์ ปฏิบัติตามสัญญา ชักชวนให้ทำดี และห้ามปรามการชั่ว ทำดีต่อเพื่อนบ้าน เห็นใจเด็กกำพร้า คนยากจน สงสารผู้ป่วยหรือสัตว์เลี้ยง ขอดุอาอ์ ซิกรุ้ลลอฮ อ่านอัลกุรอาน ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ อิบาดะห์

อิบาดะห์คลุมทั้งฟัรดู(การงานที่บังคับในศาสนา) และสุนัต(ส่งเสริมให้กระทำ) ทุกสิ่งทุกอย่างที่บัญญัติให้กับมนุษย์ ถือว่าเป็นอิบาดะห์ เพราะอิสลามหมายถึงการยอมจำนนต่ออัลลอฮ

ดังนั้นกิริยามารยาท การกิน เข้าห้องน้ำ การปกครอง การคลัง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรือประเทศ บทลงโทษผู้กระทำผิด ยามสงบหรือมีศึก ก็จะอยู่ในข่ายของอิบาดะห์ด้วย ทั้งนี้เพราะเป็นข้อกำหนดให้ผู้มีอีมานปฏิบัติโดยอัลลอฮ ซ.บ.

อิบาดะห์คือความสมบูรณ์แบบในชีวิต

มีหลายคนเข้าใจว่าเมื่อเขาละหมาด ถือศีลอด ไปทำฮัจย์ อ่านอัลกุรอาน ซิกรุ้ลลอฮ ดุอาอ์และขออภัยโทษแล้วก็เท่ากับเขาได้ทำอิบาดะห์อย่างครบถ้วน ซึ่งมิใช่เช่นนั้น ที่กล่าวมาข้างต้น คือ อิบาดะห์พื้นฐานอันสำคัญและสูงส่งของการเป็นมุสลิม แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอิบาดะห์ต่ออัลลอฮ มนุษย์นั้นต้องอยู่บนโลกนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อการอิบาดะห์ต่อพระองค์ อันเป็นขอบเขตที่กว้างขวางครอบคลุมทุกด้านของชีวิต

การพูดจา การกระทำของเขาต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติข้อห้ามข้อใช้ของอัลลอฮ มุอ์มินนั้นจะเป็นอิสระไม่ตกเป็นทาสตนเองและสิ่งถูกสร้าง เขาจะเป็นทาสและก้มกราบเพียงเฉพาะอัลลอฮ ซ.บ. พระองค์เดียวเท่านั้น

มุอ์มิน(ผู้ศรัทธา)ไม่ล่องลอย หรือกระทำสิ่งใดอันเป็นการสนองอารมณ์ใฝ่ต่ำ เขาจะรักษาสัญญาที่มีต่ออัลลอฮ อัลกุรอาน ซูเราะห์อัล-อะห์ซาบ อายะห์ที่ 36 กล่าวว่า

“และไม่เหมาะสมสำหรับชายผู้ศรัทธาหรือหญิงผู้ศรัทธาคนใด เมื่ออัลลอฮและรอซู้ลของพระองค์ได้กำหนดกิจการใดแล้ว ที่จะมาเกี่ยงในกิจการของพวกเขา และผู้ใดละเมิด(บทบัญญัติของ) อัลลอฮและรอซู้ลของพระองค์ ดังนั้นแน่นอนเขาได้ลงไปในการหลงผิดอย่างชัดแจ้ง”

จะไม่ถือว่าเขาได้อิบาดะห์ต่ออัลลอฮ สำหรับคนที่เพียงกล่าวว่าฉันละหมาด ถือศีลอด ทำฮัจญ์ แล้วฉันมีอิสระที่จะกินหมู ดื่มเหล้า เอาดอกเบี้ย และปฏิเสธบทบัญญัติของอิสลามที่ตนเองไม่ชอบ เลือกใช้ชีวิตที่มิได้มาจากชารีอะห์ของอิสลาม

แม้จะปฏิบัติภารกิจที่เป็นวาญิบครบถ้วน แต่ตนเองและครอบครัวไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามมารยาทจริยธรรมอิสลาม เช่น ชายสวมใส่ผ้าไหม ประดับกายด้วยทองคำ แสดงท่าทางเหมือนหญิง หรือหญิงที่เปิดเผยสรีระ-ส่วนสัด เหล่านี้ไม่ถือว่าเขาทำอิบาดะห์ต่ออัลลอฮ

ยังไม่ถือว่าได้อิบาดะห์ต่ออัลลอฮ สำหรับคนที่คิดว่าอิบาดะห์ของเขาอยู่ในบริเวณมัสยิด เมื่อเขาออกจากที่นั่นเขาสามารถใช้ชีวิตตามอารมณ์เป็นใหญ่ เท่ากับว่าเขาได้มอบชีวิตของตนเองให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นนอกเหนือจากอัลลอฮ ซ.บ.

อัลลอฮคือผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง พระองค์เท่านั้นเป็นผู้กำหนดชารีอะห์แก่สิ่งถูกสร้าง ผู้ทรงสิทธิในการกำหนดหะล้าลและหะรอม พระองค์คือผู้คุ้มครองเหนือมนุษย์

กิจกรรมที่เป็นประโยชน์คืออิบาดะห์

การงานทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลและสังคม ถือเป็นหนทางหนึ่งที่จะเข้าสู่ความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ ย่อมเป็นอิบาดะห์ที่ดีที่สุดในทัศนะของอิสลาม หากผู้กระทำมีจุดมุ่งหมายที่ดี บริสุทธิ์ใจและมีความซื่อตรง ไม่แสวงหาชื่อเสียงจากคนอื่น

อิบาดะห์ในความหมายนี้จึงเป็นไปได้มากมาย เช่น

การบรรเทาทุกข์ให้ผู้เดือดร้อน *บริจาคช่วยเหลือผู้ตกยาก
ปกป้องคนที่ถูกกดขี่ *ชักชวนคนที่หลงนอกทางอิสลาม
ช่วยคนหกล้ม *ช่วยคนที่มีหนี้สิน
ช่วยคนจนที่มีลูกมาก *สอนคนที่ไม่รู้หนังสือ
ให้ที่พักคนเดินทาง*ป้องกันอุบัติเหตุ
ทำประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิต
ล้วนเป็นการสร้างความใกล้ชิดต่ออัลลอฮโดยมีข้อแม้ว่าจะต้องบริสุทธิ์ใจเพื่อพระองค์ และมีเจตนาที่ดี ไม่มีสิ่งอื่นแอบแฝง ยังมีการกระทำอีกมากมายที่สามารถเพิ่มสะสมสินทรัพย์ให้กับบัญชีแห่งอิบาดะห์ของเราได้ในชีวิตประจำวัน

ดังนั้นพึงกระทำสิ่งที่มีประโยชน์ในทางศาสนาและมีค่าในทัศนะของอัลลอฮ แม้ว่าสิ่งที่ทำมันจะดูเล็กน้อยในสายตของคนทั่วไปและโดยความรู้สึกของตัวท่านเองก็ตาม

ท่านนบีมุฮัมมัด ซ.ล.กล่าวว่า ”ท่านต้องการไหมถ้าฉันจะบอกถึงอะมั้ลที่ประเสริฐกว่าการถือศีลอด ละหมาด และซอดะเกาะห์ บรรดาซอฮาบะห์ตอบรับ ท่านจึงบอกว่า นั่นคือความพยายามที่จะแก้ไขความสัมพันธ์ของสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ทั้งนี้เพราะผลเสียของความแตกแยกนั้นคือมีดโกน (แห่งศาสนาที่ทำลายวิญญาณแห่งความเป็นพี่น้องมุสลิม)”

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เป็นอิบาดะห์ ซึ่งมีส่วนทำให้เราได้รับสวนสวรรค์ยังมีอีก เช่น

การไปเยี่ยมคนป่วย
การให้ทานแก่คนที่ขออาหารกิน
นำกิ่งไม้ที่ขวางทางออกไปทิ้ง
อิสลามมิได้เพียงแต่ส่งเสริมและยกย่องการทำความดีเท่านั้น แต่ยังได้ชักชวนใช้ให้ทำโดยถือว่าอะมั้ลดังกล่าวเป็นภารกิจประจำวันอย่างหนึ่งของมุสลิม ในอันที่จะทำให้เขาได้รับสวนสวรรค์เป็นผลตอบแทน ปลอดพ้นจากไฟนรก

อบูซัรเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ซ.ล.บอกว่า ”สิ่งที่สามารถคุ้มครองมนุษย์ให้พ้นจากไฟนรกได้คือ ศรัทธาต่ออัลลอฮ ทำทาน ถ้ายากจนให้ใช้คนอื่นทำดี ห้ามการชั่ว สอนคนที่ไม่รู้ให้ทำงาน ช่วยเหลือคนที่ถูกทำร้าย อย่าปล่อยให้ใครไปสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ท่านกล่าวสรุปว่า ไม่มีมุอ์มินคนใดที่ได้กระทำดีดังกล่าว นอกจากความดีเหล่านั้นจะนำเขาเข้าสรรค์” / มุคต๊าร เลาะวิถี เรียบเรียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม